"การจัดการความรู้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อกกลายขิดบ้านหนองหัววัว
ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น"
รวบรวม/เรียบเรียงโดย.....นางสาวอินทุอร สินธุชาติ
รวบรวม/เรียบเรียงโดย.....นางสาวอินทุอร สินธุชาติ
การทอเสื่อกกลายขิด |
1.ประวัติการทอเสื่อกกลายขิดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อกกลายขิดบ้านหนองหัววัว
กลุ่มทอเสื่อกกลายขิดบ้านหนองหัววัว
ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นโดยเริ่มจากชาวบ้านบ้านหนองหัววัว
ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เมื่อหมดฤดูทำนา
ก็ จะพากันทอเสื่อกกไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน และบางส่วนก็จะจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว
โดยเริ่มจากชาวบ้านทอเสื่อลายธรรมดา ต่อมาก็ได้คิดประดิษฐ์ลวดลายต่างๆ โดยการทอเสื่อกกลายขิด
เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี
แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน โดยมีแนวความคิดการยกดอกลายขิดมาจากการมัดหมี่
นำมาเป็นกรรมวิธีในการทอให้เกิดความสวยงามและดึงดูดผู้ใช้
เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอน หรือทำธุรกรรมต่างๆ
ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ
กลุ่มทอเสื่อกกลายขิดบ้านหนองหัววัว
ได้ปรึกษากับพัฒนาชุมชนเพื่อขอจัดตั้งกลุ่มเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2548 มีสมาชิกทั้งหมด 20 คน และได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเขต 5
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้ามาแนะนำการออกแบบลายเสื่อและได้ดำเนินการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน
พ.ศ. 2548 และองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสี ได้เข้ามาเยี่ยมชม
แล้วซื้อสินค้าจากกลุ่มทอเสื่อ และซักถามสมาชิกในกลุ่ม
และหลังจากนั้นได้นำออกรายการ ผู้ใหญ่บ้านดำดี และได้รับการสนับสนุนจักรอุตสาหกรรม
จำนวน 2 หลัง
และศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองขอนแก่น
ได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณ เป็นจำนวนเงิน 3,000 บาทเพื่อเป็นงบหมุนเวียนในกลุ่ม
ในปัจจุบันมีนางบุญทัน สีหาบุตร เป็นประธานกลุ่ม โดยมีแหล่งเรียนรู้การทอเสื่อกกลายขิดอยู่บ้านเลขที่
22 บ้านหนองหัววัว หมู่ 6 ตำบลโคกสี
อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
2. สภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มเกษตรกร
-
แรงงาน สมาชิกภายในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อกกลายขิดบ้านหนองหัววัว
ใช้แรงงานคนในการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยมีสมาชิกภายในกลุ่ม จำนวน 20 คน
- การอบรม สมาชิกภายในกลุ่มได้รับความรู้ในการทอเสื่อกกลายขิดสืบทอดมาจากบรรพบรุษในครัวเรือนของตนเองและได้มีการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิกในกลุ่มที่ยังไม่มีความชำนาญในปีแรกที่มีการรวมกลุ่ม
และดำเนินการแบบนั้นมาทุกปีเพื่อพัฒนาฝีมือในการทอเสื่อและแปรรูปผลิตภัณฑ์
-
เงินทุน
สมาชิกภายในกลุ่มมีการรวมหุ้นกันคนละไม่เกิน 10 หุ้นๆ ละ 100 บาท
รวมเป็นเงิน 20,000 บาท
โดยจะมีการปันผลให้กับสมาชิกภายในกลุ่มปีละครั้ง มากหรือน้อยตามรายได้ของกลุ่ม
เพราะสมาชิกในกลุ่มได้สร้างข้อตกลงร่วมกันว่าหากขายได้จะมีการหักเงินสะสมเข้าบัญชีกลุ่มตามขนาดของเสื่อที่ทอได้
1) การจัดหาวัสดุ
อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการทอเสื่อกก
- วัสดุที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทอเสื่อโดยกกที่ใช้ในการทอเสื่อ ได้แก่ เส้นยืนใช้ไนลอน และเส้นนอนหรือเส้นพุ่งใช้เส้นกก
- อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการทอเสื่อกก
ได้แก่ โครงกี่ทอเสื่อ(โฮงทอสาด ),ฟืม ,ไม้ส่งกก หรือไม้สำหรับสอดเส้นกก
,มีดตัดกก ,มีดจักกก ,ปี๊บสำหรับย้อมสีกก ,สีเคมี(สีวิทยาศาสตร์) สำหรับย้อมกก ,สารช่วยให้สีติดทนนานและสีสดขึ้น ได้แก่ สารส้ม น้ำส้มสายชู
และเกลือ ,เทียนไขหรือไขสัตว์ ,หินขัด ,จักรเย็บผ้า ,กรรไกร และ ผ้าเย็บริม
2) การตัดกก จะทำในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม
หรือดูจากความยาว หรือดอกที่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล โดยจะใช้มีดเล็กตัดเกือบถึงโคนต้นกก
แล้วนำมากองเรียงเพื่อคัดแยกขนาดตั้งแต่ความยาว 50 ซม. 80 ซม. 100 ซม. และ 120 ซม. จากนั้นนำแต่ละกองที่มีขนาดเท่ากันมัดเก็บไว้ด้วยกัน
ตัดดอกทิ้งเพื่อทำการกรีดเป็นเส้น
3) การกรีดกก(จักกก) ควรทำขณะกกสด โดยใช้มีดปลายแหลมที่ทำมาจากใบเลื่อย
กรีดกกเป็นเส้น โดยกกกลม(ไหล) 1 ต้นจักได้ 3-4 เส้น
4) การตากกก โดยการนำกกที่จักไปตากแดดให้แห้ง ทำได้ 2 วิธี คือ วิธีแรกแผ่เส้นกกบางๆวางไว้บนพื้น เช่น พื้นดิน พื้นถนน
หรือชานบ้าน วันแรกจะตากเต็มวัน จากนั้นนำมามัดเป็นมัดเล็กๆ แล้วตากอีกราว 2 วัน โดยพลิกกลับด้านวันละ 2 ครั้งให้เส้นกกนั้นแห้งสนิท
วิธีที่สอง ตากกกแขวนราวไม้ไผ่โดยคล้องเส้นกกไว้บนราว ประมาณ 3-5 วัน หรือสังเกตจากกแห้งสนิท เป็นสีเหลืองนวล
กกที่แห้งสนิทเก็บได้นานไม่เกิดเชื้อรา เมื่อนำไปย้อมสีจะได้เส้นกกที่มีความมันวาวสีติดทนนาน
5) การย้อมสี สีที่ใช้ย้อมกกส่วนใหญ่ที่นิยมใช้เป็นสีเคมี
(สีวิทยาศาสตร์) เนื่องจากจะมีสีสันสดใส งดงามมากกว่าสีธรรมชาติ ในการย้อมสีมีประโยชน์คือสามารถป้องกันเชื้อราจากเส้นกก
การย้อมสีกกมีขั้นตอนดังนี้ คือ นำกกที่ตากแห้งแล้วมาแก้มัดออกให้เหลือส่วนปลาย มัดให้หลวม
นำไปแช่น้ำนาน 15-20 นาที เพื่อให้เส้นกกพองตัวและอ่อนนิ่ม จากนั้นนำน้ำใส่ปี๊บประมาณ
15-17 ลิตร หรือ ¾ ปี๊บ ต้มน้ำให้เดือด
ใส่สีย้อมประมาณ 1 ช้อนชาต่อกก 2 กำ ใช้ไม้พายกวนให้สีละลาย
การย้อมสีกกเริ่มจากสีอ่อนตามลำดับไปเข้มที่สุด สีสุดท้ายจะเป็นสีดำ
เมื่อสีละลายดีแล้วใส่สารช่วยให้สีติดทนนาน และสีสดขึ้น สารที่ชาวบ้านใช้ ได้แก่
สารส้ม น้ำส้มสายชู และเกลือ แล้วนำเส้นกกที่มัดเป็นกำแช่ลงไปในน้ำสีที่กำลังเดือดทิ้งไว้
10-15 นาที จึงนำไปแช่น้ำ แล้วนำขึ้นตากในที่ร่มมีลมพัดผ่าน
3-4 วัน เมื่อเส้นกกสีแห้งก็สามารถนำไปใช้ในการทอได้
6) การทอ เริ่มจากการร้อยเส้นเอ็นกับฟืมเป็นเส้นยืนตามขนาดของความยาวที่กำหนด
และนำเส้นกกไปจุ่ม หรือพรมน้ำไห้เปียกแล้วใช้ผ้าห่อไว้
เพื่อให้เส้นกกอ่อนนิ่มทอได้ง่าย
ก่อนทอใช้เทียนไขหรือไขสัตว์ทาที่เส้นยืนเพื่อลดความฝืดลง การทอเสื่อใช้ผู้ทอ 2
คน คนที่ 1 เรียกว่าผู้ส่งกก
จะนั่งอยู่ด้านนอกโครงกี่ทอเสื่อ วางเส้นกกเรียงตามสีที่ออกแบบลวดลายไว้ และสลับโคนกก
ปลายกก เพื่อความสะดวกในการส่งกกเข้าทอ จับไม้สอด
นำเส้นกกให้ด้านโคนพาดอยู่ที่ปลายไม้สอด หรืออยู่ที่รูปลายไม้สอดก็ได้
แล้วส่งไม้สอดให้พุ่งเข้าไประหว่างเส้นยืน
แล้วจึงดึงเฉพาะไม้สอดออกให้เส้นกกขัดอยู่ระหว่างเส้นยืน
แล้วเตรียมทำเส้นต่อไปเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจากโคนกกมาเป็นปลายกก ทำสลับกันไป
คนที่ 2 เรียกว่า คนกระแทกฟืม ทำหน้าที่จับฟืมพลิกคว่ำลงหรือหงายขึ้น
โดยเริ่มจากการหวายฟืมขึ้น ผู้ส่งกกจะสอดเส้นกกให้ด้านโคนกกเข้ามาก่อน
พุ่งเข้ามาขัดอยู่ในระหว่างเส้นยืน จับเส้นกกให้ตรงแล้วดึงฟืมเข้าหาตัวผู้ทอ
ทำให้เส้นกกถูกกระแทกอัดเรียงกันจนแน่น เส้นต่อมาผู้จับฟืมต้องพลิกฟืมให้คว่ำลง
แล้วผู้ส่งกกต้องพุ่งเส้นกกด้านปลายเข้ามา
แล้วจับเส้นกกให้ตรงดึงฟืมเข้าหาตัวผู้ทอ จับปลายเส้นกกด้านโคนกก
พันริมกันเส้นกกหลุด ภาอีสานเรียกว่า “ไพ” จับฟืมพลิกหงายขึ้น
และคว่ำลงสลับกันตามจังหวะการทอ เมื่อฟืมคว่ำต้องส่งกกด้านปลายเข้ามาก่อน
เมื่อฟืมหงายต้องส่งกกด้านโคนเข้ามา ทำสลับกันเช่นนี้ไปตลอด
ลวดลายของเสื่อ
เป็นผลเนื่องมาจากการร้อยเส้นยืน
การสอดเส้นกกสีต่างๆเป็นเส้นพุ่งให้ยกและข่มเส้นยืน
จำนวนเส้นกกแต่ละสีทำให้เกิดเป็นลวดลายเสื่อ จำแนกได้ 2 ประเภท คือ
(1) ลวดลายพื้นบ้าน ได้แก่
ลายหมากจับ ลายเรียบ ลายริ้วสลับ ลายตาราง และลายเสื่อห้อง
(2) ลวดลายประดิษฐ์
เป็นการสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนเสื่อให้เกิดความงามตามจุดประสงค์
โดยการประยุกต์ลวดลาย และได้รับอิทธิพลจากการทอผ้าไหม ทอผ้าขิต ได้แก่ ลายขิต ลายตัวอักษร
ลายดอก ลายรูปสัตว์ ลายผีเสื้อ ลายสับปะรด ลายปลา ลายผ้าซิ่นหมี่ ลายขอหลง ลายพญานาค ลายดาวเคียงเดือน
ลายแก้วคู่ และลายช้าง เป็นต้น
7) การเก็บริมเสื่อ โดยใช้กรรไกร
หรือมีดตัดปลายเส้นกกริมเสื่อ ใช้กรรไกรตัดเส้นยืนด้านตรงข้ามให้ขาดออกจากโครงกี่ทอเสื่อ
นำปลายเส้นยืนมาผูกมัดให้แน่น
ป้องกันไม่ให้เส้นกกหลุดออกจากผืนเสื่อปลายที่เหลือขมวดแล้วมัดต่อๆกันจนสุดริมเสื่อ
ถักเปียมัดให้แน่นแล้วใช้ไฟลน
8) การตกแต่งขัดมัน เป็นการเก็บรายละเอียดของชิ้นงาน ได้แก่
การตัดเศษเส้นกกเส้นยืนหลุด หรือขาด และการขัดมันเสื่อให้ขึ้นเงาวาวแล้วนำผืนเสื่อตากจนแห้ง
เอกสารอ้างอิง
งานผลิตภัณฑ์ทอเสื่อกก. ค้นเมื่อ 25 เมษายน 2559, จาก
บุญทัน
สีหาบุตร. (10 เมษายน 2559).
สัมภาษณ์. ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อกกลายขิด. บ้านหนองหัววัว หมู่ 6 ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
วรรณพิรัญญา
อินทร์โท. (24 เมษายน 2559). สัมภาษณ์.
ผู้ดูแลผู้รับการสงเคราะห์. ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรี และครอบครัวรัตนาภาจังหวัดขอนแก่น
สุธี
สังคนนท์ และคณะ. ชุดการเรียนรู้การทอเสื่อกกลายขิต.
ศูนย์การเรียนชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ตำบลโคกสี ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเมืองขอนแก่น
ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดขอนแก่น.
2550
รวบรวม/เรียบเรียงโดย.....นางสาวอินทุอร สินธุชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น